พหุปัญญา (Multiple Intelligence)

ประสบการณ์จากชุมนุมพุทธธรรมศิริราช ๓๓ ปีก่อน “เรื่องที่ไม่เคยเล่า”

บทความลงในหนังสือครบรอบ ๖๐ ปี ชุมนุมพุทธธรรมศิริราช (๒๕๖๕)

ขออนุญาตเกริ่นนำ ผมมีโอกาสรู้จักพระธรรมคำสอนตั้งแต่เล็ก คือที่บ้านมีห้องพระ มีพระที่พ่อได้ตกทอดมา ที่เช่ามาจากวัดต่าง ๆ และที่ได้รับมาเป็นสิริมงคล พ่อสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน และเรียกผมให้ไปสวดด้วย ปู่รับราชการทหาร พื้นเพเป็นคนอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ส่งพ่อมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร พ่อเลยเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบ “ช่างกลปทุมวัน” รุ่นแรก ด้วยความบังเอิญ ไปศึกษาต่อวิศวกรรมที่อเมริกา ทำงานเป็นครูแผนกอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ จนเกษียณอายุ ปู่ย่าสร้างพระอุโบสถถวายวัดที่บ้านเกิด วันสงกรานต์ทุกปีพ่อจะไปทำบุญ บังสุกุล มีเจดีย์บรรจุอัฐิของครอบครัว ส่วนแม่เป็นคนเชื้อสายจีน อาชีพเป็นแม่บ้าน ทำกับข้าวเลี้ยงคนในครอบครัวและใส่บาตรทุกวัน

ที่บ้านมีหนังสือพระ หนังสือสวดมนต์ หนังสืองานศพ (ที่มีเนื้อหาหลากหลาย) หนังสือ Popular Science Popular Mechanics วารสาร/นิยายวิทยาศาสตร์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือของที่บ้าน หนังสืออื่น ๆ ที่หามาเอง ได้ช่วยงานพ่อแม่ ทั้งงานช่างต่างๆ ยกเครื่องรถยนต์ งานก่อสร้าง งานบ้าน ทำครัว ทำสวน อาบน้ำสุนัข จับปลาที่ติดในตมสนามไปปล่อยคลองเมื่อหมดหน้าฝน ฯลฯ เมื่อมีเวลาว่างพ่อจะไปเรียน/ฝึกกรรมฐานที่วัดกับเกจิพระอาจารย์สำนักต่าง ๆ ไปร่วมงานทำบุญของวัดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภาคกลาง เหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้ ผมเลยได้มีโอกาสไปด้วย สนุกเพราะได้ไปเที่ยว ไปกินอาหารแปลก ๆ ที่วัด ที่ปกติไม่ได้กิน และผมได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่พ่อและแม่ไปร่วม เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ขนทรายเข้าวัด ฝังลูกนิมิต เวียนเทียน ฯลฯ ช่วงท้ายของชีวิตปู่ไม่สบาย เป็นมะเร็งคอหอย เสียชีวิตที่บ้าน พ่อก่อสร้างเรือนไม้หลังเล็กเป็นศาลาพิธีศพ จัดงานศพที่บ้าน แล้วต่อเติมเป็นสองชั้น เป็นบ้านให้น้องสาวพ่อใช้อาศัยมาถึงทุกวันนี้ ผมเลยได้มีประสบการณ์ต่าง ๆ ของศาสนาพุทธที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต รวมทั้งพิธีกรรมจีนของทางครอบครัวสายแม่ และสิ่งที่ทำให้ผมสนใจพุทธศาสนามาจากการหาคำตอบของคำถามที่สงสัยมาตั้งแต่เด็กว่า “ฉันเป็นใครกัน” “ฉันมาจากไหน” “จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำไมฉันถึงได้มาเกิดที่นี่ (โลกใบนี้) ด้วย” สมัยเด็ก ๆ นอนดูท้องฟ้าดูดาวแล้วก็มักจะมีคำถามนี้ผุดขึ้นมา

เมื่อได้เรียนที่ศิริราชปี ๒๕๒๘ มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ รู้จักอาจารย์ที่มีความสนใจในคำสอนพุทธศาสนา รู้จักชื่อ “ชุมนุมพุทธธรรมศิริราช” จากป้ายโปสเตอร์แขวนกำแพงเชิญชวนร่วมกิจกรรม จำได้ว่าป้าย “งานบรรพชาอุปสมบทหมู่ประจำปี” คล้ายคลึงกับชมรมพุทธของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดกันในสมัยนั้น แม่จะถามว่าถึงงานบรรพชาอุปสมบทหมู่ของชุมนุมพุทธธรรมศิริราชหรือยัง เพราะแม่จะฝากเงินทำบุญมาร่วมเป็นเจ้าภาพทุกปี ในระหว่างเรียนแพทย์ผมมีโอกาสได้รู้จักและช่วยงาน อาจารย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ อาจารย์จินตนา ศิรินาวิน อาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์ ที่เป็นอาจารย์แพทย์ “สมัยใหม่” ใช้คอมพิวเตอร์ Macintosh ในการทำงานทำวิจัย อาจารย์ทั้ง ๓ ท่านนี้ รวมทั้งอาจารย์กาญจนา เกษสอาด มีความสนใจเลื่อมใสในพุทธศาสนา ผมมีโอกาสได้คุยธรรมะด้วยเป็นครั้งคราว และเป็นความโชคดีที่ได้รู้จักชื่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่ทางศิริราชได้กราบเรียนท่านมาช่วยพัฒนาหลักสูตรแพทย์ศิริราชซึ่งมีอาจารย์ประเวศ วะสีเป็นผู้สนับสนุนด้วย นอกจากนี้ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนและฟังเทปธรรมเทศนาของท่าน ทำให้มีมุมมองเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการใช้ภาษาง่าย ๆ ให้เข้าใจคำสอน ลดความเข้าใจผิดที่เกิดจากการตีความตามค่านิยมของสังคมไทย ที่หาผู้อธิบายได้กระจ่างไม่ง่ายนัก (ได้ข้ามฟากไปฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีร้านหนังสือดอกหญ้าสาขาท่าพระจันทร์ บังเอิญเจอหนังสือ “ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์  ปยุตฺโต) ราคา ๒๕ บาท เปิดอ่านประทับใจมากจึงหางานเขียนเล่มอื่น ๆ ของท่านมาอ่านต่อ)

ระหว่างเรียนแพทย์ที่ศิริราชมีโอกาสได้ช่วยกิจกรรมหลายอย่างของชั้นปี (งานจัดทำหนังสือเรียนด้วยคอมพิวเตอร์) ของมหาวิทยาลัย (นักกีฬาเทเบิลเทนนิส) ของอาจารย์และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ มีงานใดที่สามารถช่วยเหลือได้ก็พยายามทำเท่าที่เวลาและความสามารถจะอำนวย ความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเรียนในชั้นเรียนปี ๔ คือ เรื่องอุปสมบทประจำปีกับชุมนุมพุทธธรรมศิริราช ซึ่งน่าจะได้เรียนรู้คำสอนในแบบที่แตกต่างจากที่ผ่านมา คือการไปบวชเป็นพระสงฆ์ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเชื่อว่าแม่จะมีความสุขที่ลูกชายทั้งสองคนได้บวชพระตามคติสังคมไทย “ชายผ้าเหลือง” และ “บวชก่อนแต่ง”  จึงได้สมัครเข้าโครงการอุปสมบทชุมนุมพุทธธรรมศิริราชในปีนั้น ซึ่งมีเวลาปิดเทอมราว ๒ สัปดาห์

การบวชในครั้งนั้นให้ประสบการณ์ที่มีประโยชน์อย่างมากกับชีวิต ได้เห็นความหลากหลายของผู้คน เห็นวิถีทางเดินของชีวิตที่แตกต่างกัน ได้ฝึกฝนขยาย comfort zoneของตนเองผ่านวิถีของพระสงฆ์ เป็นประสบการณ์ที่สร้างการเรียนรู้และจดจำมาถึงปัจจุบัน ขอนำมาเล่าสั้น ๆ บางเรื่อง

(๑) การอุปสมบทจัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เจ้าอาวาส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ เนื่องจากชุมนุมพุทธธรรมศิริราชได้ติดประกาศในที่สาธารณะเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในครั้งนั้นมีบุคคลนอกศิริราช ๒ คนมาร่วมด้วย ซึ่งมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือระหว่างพิธีบวชในพระอุโบสถ สมเด็จญาณฯ ได้ให้พระพี่เลี้ยงนำผู้ขอบวช (ที่เป็นบุคคลภายนอกคนหนึ่ง) ไปฝึกซ้อมคำขอบวชให้คล่องอีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถท่องคำขอบวชได้ ทั้งนี้อาจจะมาจากระยะเวลาเรียนรู้และให้ฝึกซ้อมกับพระพี่เลี้ยงไม่มากพอ ใช้เวลาพักใหญ่ก็กลับมาประกอบพิธีได้เรียบร้อย 

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้เห็นความเป็นครูของพระที่ไม่ต่างจากครูแพทย์ สิ่งใดเป็นพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นต้องฝึกฝนให้สำเร็จ เงื่อนไขของหลักสูตรที่ได้ออกแบบไว้เป็นขั้นเป็นตอน อีกประการหนึ่งคือเรื่องความใจดีของคนไทย ผมเชื่อว่าผู้ที่จัดกิจกรรมอุปสมบทประจำปีมีความหวังดีให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อาจทำให้ละเลยเรื่องพื้นฐาน/ทักษะสำคัญบางประการไป รวมถึงความใจดีของพระพี่เลี้ยงเช่นกัน ที่ไม่ได้ตามผู้ขอบวชให้มั่นใจว่าได้ซักซ้อมกันอย่างดี (หากไม่พร้อมก็ไม่ควรให้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้)  ซึ่งคือเรื่องของการมี integrity ครบถ้วนนั่นเอง

(๒) ในระหว่างเป็น “พระใหม่” จำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ฝึกทำกิจวัตรของสงฆ์ต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน มีพระพี่เลี้ยงช่วยสอน เช่น การนุ่งห่มจีวร การออกบิณฑบาต การทำวัตรเช้า การทำวัตรเย็น การสวดมนต์ไหว้พระ การปลงอาบัติ การฉันอาหาร รวมถึงการตื่นแต่เช้ามืด เดินบิณฑบาตด้วยเท้าเปล่า ฉันอาหารโดยไม่ให้เลือก การตรงเวลาที่กำหนด กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกฝนสิ่งที่อยู่นอก comfort zone และกิจกรรมบางอย่าง เช่น การปลงอาบัติ เป็นกิจกรรมสำคัญที่ไม่มีในการปฏิบัติของฆราวาสทั่วไป ที่ใช้หลักการเดียวกับ “วงล้อคุณภาพ” (เรียนรู้ ปฏิบัติ ทบทวน ปรับปรุง) ที่การแพทย์ปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นพื้นฐานของเรื่อง patient safety

วัดบวรนิเวศวิหารมีพระอาคันตุกะมาเยือนสม่ำเสมอ ในตอนนั้นมีพระศรีลังการูปหนึ่ง ท่านออกบิณฑบาตเพียงรับอาหารที่มีผู้ใส่คนแรกเท่านั้น ฉันอาหารเพียงแค่นั้นเป็นการฝึกฝนที่ท้าทาย ในทางกลับกันมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่นำน้ำเปล่าขวดใหญ่มาใส่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ได้สอบถามผู้รู้อธิบายให้ฟังว่า มีหนังสือและรายการวิทยุเล่าเรื่องที่คนหนึ่งมีประสบการณ์ใกล้ตาย เขาหลับไปแต่เหมือนได้ไปอยู่ในสถานที่กันดาร ไม่มีน้ำดื่ม หิวน้ำมาก แต่เขาได้ฟื้นกลับมาใหม่ เขาจึงบอกผู้คนให้ทำบุญเป็นน้ำเปล่าด้วยจะได้มีน้ำดื่มหลังเสียชีวิต เรื่องนี้คล้ายกับหลายเรื่องในสังคมไทยมากที่คนไทยมีความเชื่อที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาสั้น กระแสสังคมมีอยู่จริง คำสอนของพระพุทธองค์ก็เป็นเรื่อง “สวนกระแส” ในสมัยพุทธกาลเช่นกัน

(๓) สมเด็จญาณฯ มีตารางลงสอนปฏิบัติกรรมฐานทุกวันพระ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมภาคสมัครใจที่พระในวัดสามารถมาร่วมได้ ผมมีโอกาสไปร่วมครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาสฟังเทศน์ ท่านทรงบรรยายหลักวิชาและนำฝึกหัดปฏิบัติกรรมฐาน เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมาก หากเปรียบเทียบเหมือนแม่ทัพใหญ่ยังลงมาสอนทหารใหม่ คณบดีคณะแพทย์ยังลงมาสอนนักศึกษาแพทย์ ท่านให้ความสำคัญกับ “สิกขา” หรือ “การศึกษา” (ภาษาสมัยนี้) ของพระใหม่อย่างมาก เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำ การลงพระอุโบสถเป็นไปอย่างพร้อมเพรียงกันของภิกษุสงฆ์ มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ “เป็นกันเอง”  เมื่อครบกำหนดเวลา ผู้ใดต้องการฝึกฝนต่อก็สามารถทำได้ เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย นอกจากนี้ยังมีฆราวาสจำนวนหนึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย 

(๔) ในการอุปสมบทครั้งนั้น ทางชุมนุมพุทธธรรมศิริราชได้ติดต่อให้ไปจำวัด ณ วัดป่าสาขาของวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย ด้วย แม้เป็นเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์แต่ประสบการณ์ที่ได้รับมีคุณค่าอย่างมาก ตื่นเต้นและเร้าใจ วัดป่ามีการฝึกที่เข้มข้น ฉันเอกา (มื้อเดียว) ให้พระแยกกันจำวัด กุฏิเล็กเป็นส่วนตัว กุฏิมีตั้งแต่ใกล้ศาลาวัด ใกล้ป่าช้า จนใจกลางป่าช้า ผมเลือกหลังห่างศาลาวัดแค่เกือบถึงขอบป่าช้าพอ ที่วัดมีไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟเท่านั้น หลังทำวัตรเย็นก็จะปิดไฟฟ้า ต้องอาศัยแสงจากไฟฉายกระบอกเล็ก ๆ ส่องทางไปยังกุฏิ การจำวัดในคืนแรกเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายมาก เสียงที่เข้ามากระทบโสตประสาททำให้มีสติตลอดคืน การเจริญสติทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้ค้นพบธรรมชาติภายในที่ไม่เคยมีมาก่อน ในคืนต่อ ๆ มาจึงไม่มีความรู้สึกที่มีในคืนแรก กลับสู่ “ปกติ” ในการเรียนแพทย์มีเหตุการณ์จำนวนมากที่คล้ายคลึงกัน เป็นเหตุการณ์ตื่นเต้นและไม่สบายใจ ไม่ชอบในหนแรก ไม่อยากทำ กล้า ๆกลัว ๆ แต่การเรียนและพัฒนาจะทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ แก่นที่สำคัญของพุทธศาสนาคือการขยาย comfort zone นั่นเอง มีทั้งหลักวิชาและหลักปฏิบัติ คำถามที่สงสัย “ฉันคือใคร ฉันมาจากไหน” ได้กระจ่างมากขึ้นจากการเผชิญกับการออกนอก comfort zone ในเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วนำมาใคร่ครวญ (reflection/critical thinking) คำถามเหล่านี้ได้หายไป กลายเป็นอย่างอื่นแทน ไป ๆ มา ๆ ได้เห็นจิตที่อยู่ไม่นิ่งและบังคับไม่ได้

เมื่อถึงวันใกล้ครบกำหนดลาอุปสมบท มีแผนให้พระใหม่พร้อมพระพี่เลี้ยงเดินแถวเท้าเปล่ากลับมายังวัดหินหมากเป้ง บนถนนดินลูกรังแห้งระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ให้ไปถึงก่อนเวลา ๗ โมงเช้า จึงออกเดินตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกา เป็นการเดินด้วยเท้าเปล่าและสะพายเครื่องอัฐบริขารด้วย ซึ่งในวันแรก ๆ ที่มาจำวัดมีเพียงเดินออกรับบิณฑบาตแถวหมู่บ้าน ๓-๔ กิโลเมตร และเดินด้วยความสำรวมสติ ไม่รีบ ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจอย่างมาก เท้ามีอาการเจ็บขึ้นเป็นลำดับจนเป็นแผลขนาดเล็ก มีช้าบ้าง หยุดบ้าง แต่ก็เดินต่อไปได้จนถึงจุดหมายตามเวลา ความเจ็บไม่ได้มารบกวนจิตใจมาก

ในช่วงที่บวช ได้มีโอกาสฝึกเจริญสติในอิริยาบถต่าง ๆ ยืน เดิน นั่ง นอน ฉันอาหาร กวาดลานวัด ซักล้างทำความสะอาด และกิจกรรมอื่น ๆ แล้วเกิดประสบการณ์ของ “จิตนิ่ง” มีลักษณะไม่สุขไม่ทุกข์และก็ไม่ใช่อารมณ์เฉย ๆ แต่มีพลังชัดเจนแจ่มใส ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยอ่านหนังสือฟังเทศน์มา ได้ยินคำว่า “จิตรวมเป็นกอง” คิดว่าคือประสบการณ์ที่ได้รับอันนั้น  “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” แปลเป็นภาษาง่าย ๆ ว่า “รู้ได้ด้วยตนเอง ให้กันมิได้” ทั้งนี้รวมไปถึงความนึกคิดที่มีก็เกิดขึ้นเฉพาะตน หลังจากลาอุปสมบทอาการเจ็บฝ่าเท้าจากการ “เดินวิบาก” ยังมีอยู่ตลอดเวลา แต่ค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ราวหนึ่งเดือนก็หายสนิทกลับมาปกติ สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นประสบการณ์คือเรื่องของ comfort zone ความกลัว โดยเฉพาะกลัวเจ็บปวดที่เราไม่ปรารถนา ก็อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ ที่เป็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย หรือใช้คำว่า “ไปตามกาลเวลา” เหมือนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีในสังคม

ชุมนุมพุทธธรรมศิริราชได้เป็นแหล่งสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณค่าอย่างมาก ได้มีโอกาสนำความรู้มาฝึกปฏิบัติให้เกิดผล ให้ได้ค้นพบเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้เป็นเวลาล่วงมากว่า ๓๐ ปี แต่พื้นฐานความรู้ทักษะที่ได้รับมีประโยชน์อย่างมากในการทำงานและใช้ชีวิตตลอดจนถึงปัจจุบันนี้และในอนาคตข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสากล เป็นกฎของจักรวาล เพียงแค่การศึกษาสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย ผู้คนจึงทนไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตที่มีอยู่ตลอดเวลา และมีมากขึ้นในยุค disruption ของโลก เช่นเดียวกันชุมนุมพุทธธรรมศิริราชได้ “เดินทาง” มา ๖๐ ปี เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ ผมชอบคำสอนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่ได้ฟังในเทปตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นได้ทั้ง “เจริญ” และ “เสื่อม” เป็นไปตามเหตุปัจจัย หากเราสร้างเหตุแห่งความเจริญ การเปลี่ยนแปลงก็จะมีแต่ความเจริญ แต่ผลลัพธ์อาจตรงกันข้ามได้หากเหตุที่เราสร้างนั้นไม่มากพอที่จะ “คาน” เหตุแห่งความเสื่อมได้ ความผิดหวังและการออกนอก comfort zone ต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบไม่ถนัดจึงเป็นเรื่องปกติของชีวิต

คำสอนพุทธศาสนามุ่งเน้นพัฒนาตนเองให้สามารถมีความสุขในสถานการณ์แบบนี้ และมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ให้มีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาของชีวิต เห็นประโยชน์ในการทำความดีแม้อาจจะยากลำบาก  เข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ ค้นพบคุณค่าของมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่ากัน มีความรัก ความเอื้อเฟื้อ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตและสังคม

หมายเหตุ

comfort zone เป็นคำสมัยนิยมที่ใช้ในเรื่องการพัฒนาตนเอง (self development) และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human resource development) หมายถึงสภาวะที่มีความสุขสบายในแบบใดแบบหนึ่ง สภาวะที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตนเอง สงวนพลังงานเอาไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น ซึ่ง comfort zone นั้นมีจริงแต่ไม่ใช่ของจริง (Comfort zone exists but unreal) เป็นจินตนาการที่มี แต่จินตนาการอันนี้มีผลกระทบมากต่อความรู้สึกนึกคิดที่เป็นต้นกำเนิดของพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เราลงมือทำและไม่ลงมือทำ

ความกลัวเป็นต้นกำเนิดของ comfort zone ที่พบได้บ่อยที่สุด ความกลัวมีหลากหลายแบบต่าง ๆนานา มนุษย์จึง “เอาตัวรอด” เป็นพื้นฐาน รอดจากสิ่งคุกคามหรือเชื่อว่าคุกคาม ผู้คนจำนวนมากแสดงอารมณ์โกรธโมโหโดยไม่รู้ตัว ซึ่งต้นกำเนิดนั้นมาจากความกลัวเมื่อมีภาวะถูกคุกคาม การเอาชนะไม่ยอม การเป็นผู้ถูก (“I am right” / “You are wrong”) ก็เช่นกัน มีเพื่อเอาตัวรอด เพื่อรักษา comfort zone ของตนเองไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว (reality) เรามีศักยภาพที่ไม่จำกัด แค่มีบางอย่างในตัวเรามาจำกัดความสามารถที่แท้จริงไว้ ทางพุทธศาสนาอธิบายด้วยคำว่า “กิเลส” ซึ่งมีตั้งแต่หยาบไปถึงละเอียด (ที่มองเห็นได้ยากขึ้น)  comfort zone เป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ง่าย ถูกปกป้องไว้อย่างแข็งแกร่ง

การขยาย comfort zone เป็นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะการออกนอก comfort zone สร้างความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย โดยธรรมชาติของการเอาตัวรอด มนุษย์เราถูก comfort zone จำกัดเอาไว้ มีคนเพียงส่วนน้อยที่มี comfort zone กว้างเป็นนิสัยเดิม เป็นคนที่มีลักษณะที่สำคัญ คือคนที่กลัวน้อย คนที่อยู่เหนือทุกสถานการณ์ของชีวิต คนที่สามารถรับมือจัดการกับสิ่งที่ไม่เหมือนกับที่คาดหวัง หรือคนที่มีจิตใจสงบสุขมากนั่นเอง 

หลักพื้นฐานที่วิทยาศาสตร์นำมาใช้คือการค้นพบ (discovery) การค้นพบอยู่เหนือความกลัว ความชอบไม่ชอบ ความดีไม่ดี ความถูกผิด เพราะสิ่งที่ค้นพบนั้นคือข้อเท็จจริง (facts) ค้นพบอะไรก็เป็นสิ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งอื่น การแพทย์สมัยใหม่ใช้หลักของการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence-based medicine) ที่มุ่งเน้นการใช้หลักฐานแทนความเชื่อหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง/มีอคติไปตามบุคคลได้  การใช้ชีวิตด้วยการค้นพบแทนการเอาตัวรอดเป็นหลักการที่พุทธศาสนานำมาใช้ฝึกฝนพัฒนาตน การฝึกให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือกลัว เป็นการขยาย comfort zone การได้ลองทำคือการมีประสบการณ์จริง ความกลัวเป็นจินตนาการที่ถูกหักล้างได้ด้วยประสบการณ์จริงเสมอ คำสอนที่ได้ยินบ่อย เช่น “สักแต่ว่ารู้” แค่รู้ไม่ต้องกลัว เพื่อรู้แทนเพื่อปกป้องตนเอง เป็นต้น เมื่อมีทักษะนี้เกิดขึ้นในตัวก็สามารถอยู่เหนือสถานการณ์ได้ แล้วนำสติปัญญาที่มีอยู่มากมาใช้ดำเนินชีวิต

พระพุทธองค์ทรงค้นพบธรรมชาติของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ภายใน โดยอาศัยการใคร่ครวญมองเข้ามาภายใน (introspection) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการศึกษาวิจัยด้านการทำงานของสมองมนุษย์ (cognitive science) หรือด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) ในสมัยปัจจุบัน ธรรมชาติของสมองมีการทำงานหลายอย่างแต่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากที่สุดคือ ความนึกคิด (thought/rumination)  เป็นไปโดยอัตโนมัติ บังคับควบคุมไม่ได้ ความนึกคิดส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตามมา ข้อจำกัดใหญ่ของมนุษย์ คือ มองไม่เห็นกระบวนการทำงานของสมองเหล่านี้ จึงถูกสมอง “บงการ” ชีวิต  ทั้งนี้ธรรมชาติของสมองที่เป็นไปตามวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตมา มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ในการเอาตัวรอด ผ่านการตีความการด่วนตัดสิน (interpret/judge) ของสมอง แล้วสั่งการออกมาเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ  ความกลัวเกิดมาจากการตีความของสมอง เช่นเดียวกับจินตนาการที่สมองสามารถนึกคิดอย่างไม่มีขีดจำกัด (no limit)

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะการมองเห็น/ค้นพบความนึกคิดภายในและการตีความ การด่วนตัดสิน ที่มีคำเรียกว่า การเจริญสติ (mindfulness) เพราะเป็นช่องทางให้เกิดอิสรภาพในการใช้ชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ไม่เคยเกิดมาก่อน สามารถมีทางเลือกอื่นไม่ใช่การบงการของสมองโดยอัตโนมัติที่มักเป็นไปเพื่อการเอาตัวรอดเท่านั้น การมีทัศนคติของผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ  (perfectionist’s attitude) หรือคาดหวังแต่ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยเพื่อหลีกเลี่ยงความกลัว ซึ่งเป็นการสร้าง comfort zone ประเภทหนึ่งนั่นเอง การเจริญสติเป็นรากฐานของการพัฒนาตนที่ยั่งยืนสามารถลบ/ล้าง/เปลี่ยนทัศนคติและกรอบความคิดเดิมที่จำกัดศักยภาพของมนุษย์เอาไว้

integrity เป็นคำที่น่าสนใจ ในภาษาไทยอาจไม่มีคำเดี่ยว ๆ ที่แสดงความหมายได้ตรงนัก ในภาษาอังกฤษ integrity มีความหมายหลักได้ ๒ แบบ (๑) honesty แปลว่า ซื่อสัตย์สุจริต เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นความหมายที่สังคมไทยคุ้นเคย จากค่านิยมการปลูกฝังความดี เป็นคนดี  (๒) wholeness แปลว่า ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมกัน ตัวอย่างเช่น แก้วที่มีรอยร้าวเป็นแก้วที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น มีคำอธิบายขยายความว่า Integrity is foundation of success หรือ อินเทคกริตี้คือรากฐานแห่งความสำเร็จ ความหมายนี้เป็นความหมายที่รู้จักน้อย แต่มีนัยที่สำคัญและสอดคล้องกับพุทธศาสนามาก กล่าวคือ สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเหตุทำให้เกิดผล เช่น รถยนต์จะทำงานได้นั้น ส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องมีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน

รถยนต์ที่ยางแบนไปเส้นหนึ่ง แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นรถที่มีรากฐานไม่สมบูรณ์ จริงอยู่ว่ารถยนต์สามารถนำไปใช้งาน ขับขี่ได้ แต่เมื่อต้องบรรทุกหนักหรือขับขี่ในความเร็วสูงจะเกิดปัญหาตามมาได้ เป็นผลมาจากยาง/ล้อที่ไม่พร้อมนั่นเอง นอกจากล้อแล้ว ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์มีเป็นจำนวนมากที่ต้องพร้อมใช้ เช่นเดียวกันกับทุกเรื่องในชีวิต เสาเข็มอาคารที่ขนาดเล็กไปทำให้อาคารถล่ม จักรยานที่ซี่ล้อหักแต่ยังขี่ได้ นักกีฬาที่ขาดการฝึกซ้อมให้พร้อมเกิดการบาดเจ็บ นักเรียนที่ขาดความรู้และทักษะพื้นฐานของชั้นเรียนที่สูงขึ้นไม่สามารถเรียนตามเพื่อนในชั้นได้ทัน สุดท้ายก็ไม่สามารถจบการศึกษาได้ตามที่หลักสูตรกำหนด แม้แต่นักบินผู้มากประสบการณ์หากพักผ่อนไม่เพียงพอ แล้วมาทำหน้าที่ขับเครื่องบินก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

ระเบียบวินัยก็เป็นเรื่องของ integrity ในสังคมที่มีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกัน วินัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความพร้อมเพรียง เช่น ชั้นเรียนเริ่มตรงเวลา เลิกตรงเวลา ส่งผลให้ผู้สอนคาบเรียนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในตารางสอน สอนได้ตามแผนการสอนที่ได้ออกแบบ/แบ่งไว้ การสำรวมมรรยาทไม่พูดคุยเสียงดังในห้องเรียนทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือรถยนต์หยุดที่แยกพร้อมเพรียงกันเมื่อไฟจราจรเป็นสีแดง ผู้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทำตามกฎจราจร ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานแห่งความสำเร็จหรือผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสังคม เพียงแต่การนำระเบียบวินัย/กฎหมายมาบังคับใช้โดยไม่ได้ทำให้เข้าใจถึง ความเป็นเหตุปัจจัย ทำให้กลายเป็นการบังคับการใช้อำนาจแทน ที่อาจสร้างการต่อต้านให้เกิดขึ้นได้ integrity จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจหรือปัญญาเป็นพื้นฐาน อนึ่ง ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลมีชื่อเรียกว่า กฎแห่งเหตุปัจจัยและผลลัพธ์ (Law of Cause-Effect) มีความซับซ้อนได้มาก เห็นได้ยาก ทำให้บางครั้ง integrity จึงถูกละเลย โดยเฉพาะหากปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ต้องลงมือทำนั้นอยู่นอก comfort zone ด้วย เพราะมนุษย์เรามักจะเลือกที่จะไม่ทำ เช่น การอ่านหนังสือทุกวันและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้สอบผ่านและมีสุขภาพที่ดี แทนการเล่นสนุกสนานแล้วมาอ่านหนังสือคืนสุดท้ายก่อนวันสอบ อดหลับอดนอน อาจจะสอบไม่ผ่านและเสียสุขภาพได้ เป็นต้น

การใช้ชีวิตด้วย integrity เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะแก่นของพุทธศาสนามาจากกฎแห่งเหตุปัจจัยและผลลัพธ์ “เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนั้น” และในทางกลับกัน “เพราะขาดสิ่งนี้จึงไม่มีสิ่งนั้น”  การทำให้สิ่งใดคงอยู่ ยั่งยืน หรือมีความเจริญ มาจากพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในเหตุปัจจัยของสิ่งนั้น คำว่า สัมมาทิฏฐิ (right view) ที่หมายถึงการเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ก็คือการเห็นเหตุปัจจัยที่เป็นรากฐานนั่นเอง เมื่อทราบเหตุปัจจัยก็สามารถทำเหตุให้ถึงพร้อมเพื่อให้ผลเกิดขึ้น การขจัดความไม่รู้หรือ “ไม่เห็น” (จุดบอด) จึงเป็นรากฐานของการพัฒนามนุษย์ในหลักพุทธศาสนา

patient safety ความปลอดภัยผู้ป่วยได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นของวงการแพทย์ เนื่องจากความผิดพลาดทางการแพทย์ (medical errors) ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ป่วยทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ สร้างผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และที่สำคัญความผิดพลาดทางการแพทย์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับทุกคน หลักสูตรแพทย์สมัยใหม่จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยผู้ป่วยไปจนถึงความปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ศาสตร์ด้านความความปลอดภัยได้ศึกษาวิจัยและค้นพบว่า ความผิดพลาดส่วนใหญ่ที่มีนั้นเกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดบกพร่องของมนุษย์ (human errors) เป็นต้นกำเนิด ได้มีคำกล่าวในตำราไว้ว่า “To Err Is Human” (มนุษย์คือการทำผิดพลาด) ความผิดพลาดจากการหลงลืม จากการเข้าใจผิด จากความเหนื่อยล้า จากความสับสน จากความเร่งรีบและความพลั้งเผลอ แนวทางป้องกันความผิดพลาดนำวิธีการต่าง ๆ เข้าช่วย โดยเฉพาะนำกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ (quality improvement) และการจัดการความเสี่ยง (risk management) มาใช้ หมุนวงล้อคุณภาพ เพื่อค้นหาความเสี่ยงและลดความเสี่ยงลงเป็นรอบ ๆ ไป ให้มีพัฒนาการเป็นลำดับจนความเสี่ยงหมดไปหรือเหลือน้อยที่สุด

รากฐานที่สำคัญของการลดความเสี่ยงคือการรายงานความเสี่ยง/ความผิดพลาดที่ได้พบเห็นออกมา (“เอ่ยปาก” / “speak-up”) ให้ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลรับทราบ แม้ว่าผู้ที่ทำความผิดพลาดจะเป็นผู้อาวุโส เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการทำงาน และที่สำคัญที่สุดคือการรายงานความเสี่ยง/ความผิดพลาดของตนเองออกมา เพื่อลดความเสี่ยง/ความผิดพลาดนั้น  การบอกข้อพกพร่องของตนเองเป็นความยาก เนื่องจากเป็นการออกนอก comfort zone เป็นความกลัวที่มนุษย์ทุกคนมี ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากได้บอกข้อพกพร่องของตนเองออกไป ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการรายงานความผิดพลาดของตนเอง คือ วัฒนธรรมไม่ตำหนิ (no blame culture) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ ที่อ้างอิงวัฒนธรรมอำนาจเป็นพื้นฐาน ตอนข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราช ปี ๒๕๒๙ ได้ฟังปาฐกถาของอาจารย์ประเวศ วะสี พูดถึงสังคมไทย อาจารย์ชวนพวกเราช่วยกันเปลี่ยนวัฒนธรรมอำนาจเป็นวัฒนธรรมความรู้ให้มากขึ้น เราจึงเห็นการตำหนิได้บ่อยในสังคมไทยควบคู่กับการสั่งสอนให้เป็นคนดี ให้ทำดี เป็นคนเก่งที่ประสบความสำเร็จ

ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในสังคมที่มีวัฒนธรรมตำหนิแข็งแกร่ง ผู้ที่ “ทำไม่สำเร็จ” “ทำผิด” “ทำไม่เหมือนที่คาดหวัง” จะถูกคนในสังคมตำหนิไม่มากก็น้อยทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางการแพทย์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ควรเกิดขึ้นอีก ดังนั้นการรายงานความผิดพลาดและความเสี่ยงจึงต้องเป็นกิจวัตรในการทำงาน เพื่อให้นำมาสู่กระบวนการวิเคราะห์และป้องกันความเสี่ยง วัฒนธรรมและบรรยากาศองค์กรที่เอื้อต่อการลดความผิดพลาดมีความสำคัญที่สุด ส่งเสริมให้เปลี่ยนจากการตำหนิมาเป็นการเรียนรู้แทน “สนามการเรียนรู้” ที่สังคมไทยมีน้อยกว่าในอดีตคือสนามฝึกล้มเหลว  “ล้มแล้วลุก”  สนามกีฬาเป็นสนามที่ฝึกฝนให้เรียนรู้ความล้มเหลวได้อย่างดี การเล่นกีฬาเป็นทีมไม่มีการตำหนิกัน แต่ให้กำลังใจกัน ร่วมใจกันฝึกฝนลดจุดอ่อนข้อบกพร่องที่มีในสมาชิกทีม และสอนให้รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย มีน้ำใจนักกีฬา นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต

วัฒนธรรมไม่ตำหนิเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ที่ยังมีข้อบกพร่องเป็นปกติให้พัฒนาก้าวหน้าเดินไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ บรรยากาศของสถานศึกษาที่ดีเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ให้ผู้ที่ไม่ชำนาญได้เรียนรู้ฝึกฝน ได้ลองผิดลองถูก ให้ได้กล้าแสดงออก เพื่อพัฒนาตนเอง  ผู้ที่สำรวจข้อบกพร่องของตนเองเป็นนิจช่วยทำให้ก้าวหน้า มีความสำเร็จในงานที่ทำ สังคมที่มีกัลยามิตรมารับฟังและช่วยชี้แนะหนทางแก้ไขข้อบกพร่องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ความเมตตาเอื้ออาทรจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในสังคมมนุษย์และเป็นสิ่งเกื้อกูลให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข  เพราะ มนุษย์คือการทำผิดพลาด แต่การมีเมตตาโดยปราศจาก integrity ก็ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ผู้ที่จะก้าวหน้าพัฒนาจึงต้องมี integrity เป็นรากฐานด้วยเช่นกัน

ฟังเทศน์ เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยและมีประสบการณ์ ซึ่งใช้ในการถ่ายทอดความรู้จากครูมายังศิษย์ คือกิจกรรม “การเรียนการสอน”  สังคมในสมัยพุทธกาลยังไม่มีภาษาเขียนเหมือนในยุคปัจจุบันการถ่ายทอดความรู้อาศัยการพูดการฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ใช้การท่องจำคำสอนและประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ (oral literature/oral tradition) ไว้ในตัวบุคคล ใช้ “การต่อปาก” (มุขปาฐะ) ในการสืบทอดความรู้ ใช้คนหลายคนช่วยกันท่องจำเพื่อรักษาความถูกต้อง ภาษาเขียนเกิดขึ้นหลังพุทธกาลราว ๔๐๐ ปี ได้มีการบันทึกคำสอนลงในใบลาน รักษาความเป็นต้นฉบับ และคัดลอกเพื่อเผยแพร่ได้สะดวก 

เมื่อการศึกษาต้องอาศัยภาษาพูดหรือบทสนทนา (dialog) ฉะนั้นผู้ที่มีความสามารถในการฟังจึงเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การฟังจึงเป็นรากฐานของการศึกษา ภาษาบาลีคำว่า “ปรโตโฆสะ” แปลว่า เสียงจากผู้อื่น และ “สุตะ” แปลว่า ฟัง ทั้งสองอย่างนี้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาตน เป็นช่องทางให้เกิดปัญญาหรือความรู้ใหม่ ประเด็นที่น่าสนใจคือพระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงทั้งผู้ที่มีการฟังมากและน้อย อาจจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ได้ การฟังเป็นทักษะที่ดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่ง่าย

“มิลินทปัญหา” นับว่าเป็นปุจฉาวิสัชนาอันแสดงถึงความเลอเลิศทางปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดหลังพุทธปรินิพพาน (ราว ๔๐๐-๕๐๐ ปี) ระหว่างมหาปราชญ์แห่งยุค ๒ ท่าน คือ พระนาคเสน (ผู้ซึ่งเจนจบและแตกฉานในพระไตรปิฎก เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องหาภิกษุใดเทียบได้) กับพระยามิลินท์ (พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ แห่งแบ็กเตรีย กษัตริย์ชาวโยนก หลานของอเล็กซานเดอร์มหาราช) ได้มีการแปลเป็นภาษาไทย ตีพิมพ์เผยแพร่ในหลากหลายโอกาสทั้งในการศึกษา งานพิธี และได้จัดทำเป็นการ์ตูนอ่านง่ายสนุก เนื้อความที่น่าสนใจตอนหนึ่ง มีใจความว่า “มหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชาหรือของบัณฑิต” “บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างไร ?” “บัณฑิตที่สนทนากันย่อมเจรจาข่มขี่กันได้ แก้ตัวได้ รับได้ ปฏิเสธได้ ผูกได้ แก้ได้ บัณฑิตทั้งหลายไม่โกรธ บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละมหาบพิตร”

ศาสนาพุทธใช้คำว่า “สุตมยปัญญา” อธิบายถึงปัญญาที่เกิดมาจาการฟังเป็นรากฐาน และอีกหลายคำที่เกี่ยวข้องกับการฟัง (สุต/โสต) เช่น คำว่า “สาวก”/“sāvaka คือการเป็นผู้ที่ได้ยิน (hearer) เป็นต้น ดังเช่น พระยามิลินท์ได้ยินคำพูดของพระนาคเสน (ตามความเป็นจริงมิใช่ตามความนึกคิด) ระหว่างการสนทนากัน  เพราะการฟังมีทั้งการฟังที่ได้ยินกับที่ไม่ได้ยิน ขึ้นกับการรับรู้การทำงานภายในของสมองในขณะนั้น

หัวใจสำคัญหรือรากฐานของการพัฒนาตนเอง เริ่มต้นจากการฟัง เป็นการฟังที่นำไปสู่การเรียนรู้การเพิ่มพูนปัญญา ซึ่งอาจจะไม่ใช่การฟัง/การสนทนาที่มีแบบแผนตามขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม หรือแม้แต่การฟังที่เรามีทักษะเดิมอยู่แล้ว  การศึกษาในยุคปัจจุบันที่มีหนังสือตำราให้อ่าน บทความให้ศึกษาได้เอง คลิปวีดิโอให้ดู สามารถเข้าถึงได้ง่ายเป็นจำนวนมากมาย  ทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญของทักษะการฟังไป

นอกจากนี้ comfort zone ที่มีอยู่ภายใน จำกัดการฟังของมนุษย์ให้ฟังไปในแบบเดียว คือ ฟังเพื่อเอาตัวรอด เป็นการฟังด่วนตัดสินนั่นเอง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมตำหนิของสังคม มีอิทธิพลอย่างมากต่อการฟังของผู้คน เป็นการฟังที่มีตัวเรา (ผู้ฟัง) เป็นศูนย์กลาง มิใช่ผู้พูด ในปัจจุบันปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย/ผู้รับบริการกับบุคลากรสุขภาพได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทางแก้ปัญหาคือการสร้างความผูกพัน (engagement) ให้มากขึ้นซึ่งอาศัยทักษะการฟังเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะการฟังที่เรียกว่า การฟังในแบบพิเศษเหนือธรรมดา (extraordinary listening) เป็นการฟังที่ไร้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ฟัง ฟังได้ยินลึกกว่าคำพูด ได้ยินคุณค่าของผู้คน เพื่อเข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและสังคม ให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ดังรายละเอียดในส่วนอ้างอิง หลักสูตรแพทย์สมัยใหม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะการสื่อสาร/การฟังไม่น้อยกว่าทักษะทางการแพทย์ เนื่องจากการฟังที่มีประสิทธิภาพเป็นรากฐานของความปลอดภัยผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

นพ.บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์

ดาวน์โหลดบทความเป็น PDF v3.4

รูปปกหนังสือและสารบัญ 1 2 3 4 5 6

สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่ งานคุณธรรมและจริยธรรม

Design a site like this with WordPress.com
Get started